บริการออนไลน์ (E-SERVICES)
-
ข้อมูลที่ควรทราบ
การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ต่ำกว่า มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร
การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ต่ำกว่า มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นผู้เอาประกันภัยจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามอัตราส่วนที่ได้รับความคุ้มครองเท่านั้น สัดส่วนที่เหลือจากการคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดเอง
ตัวอย่าง เช่น มูลค่าทรัพย์ (อาคาร) 1,000,000 บาท ได้ทำประกันอัคคีภัยเป็นจำนวนเงิน 600,000 บาท ต่อมาเพลิงไหม้เสียหายทั้งหลัง (100%)
จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน 600,000 บาท แต่ถ้าเพลิงไหม้เสียหายเป็นบางส่วน เช่น มูลค่าทรัพย์สินที่เสียหาย 300,000 บาท จะได้รับเงินค่าสินไหม
ตามสูตรดังนี้คิดตามสูตรและวิธีคำนวณ
ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้ =[(จำนวนเงินเอาประกันภัย /มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ณ วันเกิดเหตุ ) x มูลค่าความเสียหาย]
ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้ = [(600,000/1,000,000) x 300,000] = 180,000 บาท
การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย สูงกว่า มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร
การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย สูงกว่า มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นผู้เอาประกันภัยจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย ซึ่งจะทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกินโดยเปล่าประโยชน์
ตัวอย่าง เช่น มูลค่าทรัพย์ (อาคาร) 1,000,000 บาท ได้ทำประกันอัคคีภัยเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาเพลิงไหม้เสียหายทั้งหลัง (100%)
จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน 1,000,000 บาท เท่านั้น หากทรัพย์สินได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน เช่น 50% ก็จะได้รับชดใช้เพียง 500,000 บาท
จะเห็นได้ว่าการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยที่สูงเกินกว่ามูลค่าทรัพย์สิน 500,000 บาททำให้เสียเบี้ยประกันภัยโดยเปล่าประโยชน์